บทที่ 1
การบริหารการผลิต

         การผลิตเป็นการสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์ ผู้ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด แต่เนื่องจากการมีทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น จึงได้เข้ามาเป็นตัวกำหนดบทบาทในกระบวนการผลิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงทำให้เกิดการบริหารการผลิต เพื่อช่วยให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของมนุษย์ อีกประการหนึ่งยังเป็นการช่วยให้เรานำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย โดยการผลิตมีการแปรรูปปัจจัยนำเข้าต่างๆ ผ่านกระบวนการที่ทำให้ผลผลิตที่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจัยนำเข้า ดังนั้นการผลิตจึงเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของการบริหารธุรกิจที่มีผลโดยตรงต่อความอยู่รอดขององค์การ และต้องสัมพันธ์เกี่ยวกับหน้าที่อื่น อาทิเช่น ความสัมพันธ์ในหน้าที่ของฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน และฝ่ายการผลิต ภายในองค์กรธุรกิจใดๆ ซึ่งเริ่มจากฝ่ายการตลาดมีหน้าที่ค้นหา และเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และฝ่ายการเงินจัดสรรเงินทุนทรัพยากรมาให้ฝ่ายการผลิตใช้สร้างสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ซึ่งการดำเนินงานของทั้งสามหน้าที่หลักนี้ ต้องมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งต้องประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้องค์การธุรกิจบรรลุเป้าหมายสูงสุด นั้นก็คือ กำไรจาการดำเนินธุรกิจ ดังภาพที่ 1.1 และ 1.2


ภาพที่ 1.1: 3 หน้าที่หลักขององค์การธุรกิจ
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 7.



ภาพที่ 1.2: หน้าที่หลักของ 3 ฝ่ายขององค์กรธุรกิจที่สัมพันธ์กัน
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 7.

1.1 ความหมายของการบริหารการผลิต

          การผลิต (Production/Operations) เป็นการสร้างสินค้าและบริการโดยใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยที่ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตต้องมีอรรถประโยชน์ในด้านหน้าที่ใช้สอยที่เกิดประโยชน์ มีรูปร่างลักษณะที่สวยงาม ผลิตในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ ได้ผลผลิตทันเวลาและอยู่ ณ สถานที่ที่ถูกต้อง ตัวอย่างของการผลิต ดังตารางที่ 1.1

ตารางที่1.1: ตัวอย่างของประเภทของการผลิต
ที่มา : ดัดแปลงจาก William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 7.

ประเภทของการผลิต
ตัวอย่าง
การผลิตสินค้า การทำฟาร์ม, การทำเหมือง, การก่อสร้าง, การผลิตในโรงงาน, กำลังการผลิต
แหล่งเก็บข้อมูล/ การขนส่ง คลังสินค้า, รถบรรทุก, การบริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Mail Service), รถแท็กซี่, รถบัส, โรงแรม, เครื่องบิน
การแลกเปลี่ยน การขายปลีก, การขายส่ง, ธนาคาร, การเช่า, การกู้ยืม
ความบันเทิง หนัง, วิทยุและโทรทัศน์, คอนเสิร์ต
การสื่อสาร หนังสือพิมพ์, สถานีวิทยุและโทรทัศน์, โทรศัพท์, ดาวเทียม, อินเทอร์เน็ต

         การบริหารการผลิต (Production / Operations Management) จึงเป็นการบริหารกระบวนการแปรสภาพปัจจัยนำเข้าให้กลายเป็นผลผลิตที่มีมูลค่ามากกว่าผลรวมของปัจจัยนำเข้าโดยใช้ระบบการบริหารการผลิต ดังภาพที่ 1.3
         กระบวนการผลิตมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ อันได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Input), กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process) และผลผลิต (Output) โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
         1. ปัจจัยนำเข้า (Input) คือทรัพยากรขององค์การที่ใช้ผลิตทั้งที่เป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Assets) เช่น วัตถุดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) เช่น แรงงาน ระบบการจัดการ ข่าวสาร ทรัพยากรที่ใช้จะต้องมีคุณสมบัติและประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพื่อให้สินค้าสำเร็จรูปสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ในท้องตลาด
         2. กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process) เป็นขึ้นตอนที่ทำให้ปัจจัยนำเข้าที่ผ่านเข้ามามีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้แก่
- รูปลักษณ์ (Physical) โดย การผ่านกระบวนการผลิตในโรงงาน
- สถานที่ (Location) โดย การขนส่ง การเก็บเข้าคลังสินค้า
- การแลกเปลี่ยน (Exchange) โดย การค้าปลีก การค้าส่ง
- การให้ข้อมูล (Informational) โดย การติดต่อสื่อสาร
- จิตวิทยา (Psychological) โดย การนันทนาการ ฯลฯ
         3. ผลผลิต (Output) เป็นผลได้จากระบบการผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่าปัจจัยนำเข้าที่รวมกันอันเนื่องมาจากที่ได้ผ่านกระบวนการแปลงสภาพ ผลผลิตแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สินค้า (Goods) และบริการ (Service) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันหลายประการตามตารางที่ 1.3ดังต่อไปนี้


ตารางท ี่1.2: ตัวอย่างของปัจจัยนำเข้า (Input), กระบวนการแปลงสภาพ
(Conversion Process) และผลผลิต (Output)
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 9.


ตารางท ี่1.3: ความแตกต่างระหว่างสินค้าและบริการ
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 15.

Copyright @2002. Mae Fah Luang University.
The best view at 1024x768 pixel Hight 16 bit or better, support with IE 5.0 or later