หน้าหลัก

ผู้จัดทำ

กลยุทธ์การบริหารการผลิต

         การบริหารธุรกิจย่อมต้องมีการวางแผนดำเนินการต่างๆ ในระยะยาว เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดทิศทางขององค์การ การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เป็นการมองการณ์ในอนาคตด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกล เพื่อสร้างแผนงานอันต่อเนื่องและดำรงแนวทางการดำเนินงานให้ถูกทิศทาง
       1.7.1 ระดับของแผนงานกลยุทธ์สำหรับองค์การธุรกิจ
         - แผนกลยุทธ์ระดับองค์การ (Corporate-level Strategic Plan) เป็นแผนงานที่กำหนดพันธะกิจ (Mission) ขององค์การโดยรวม ซึ่งแสดงโอกาสและช่องทางในการดำเนินธุรกิจ ช่วยจัดสรรทรัพยากรขององค์การอย่างทั่วถึงและเหมาะสม และเปิดช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ๆ แผนกลยุทธ์ระดับองค์การวางแนวทางให้แต่ละหน่วยธุรกิจขององค์การ (Single Business Unit: SBU) มีกรอบของการดำเนินงานอย่างชัดเจน
         - แผนกลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business-level Strategic Plan) เป็นแผนงานที่หน่วยธุรกิจขององค์การจะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยแสดงถึงวัตถุประสงค์หลักของธุรกิจและวิธีการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นั้น แผนกลยุทธ์ระดับธุรกิจนี้ต่อเนื่องมาจากแผนกลยุทธ์ระดับองค์การ
         - แผนกลยุทธ์ระดับหน้าที่หรือผลิตภัณฑ์ (Functional หรือ Product-level Strategic Plan) เป็นแผนงานในระดับฝ่ายของหน้าที่ต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งแผนวัตถุประสงค์และวิธีการดำเนินงานที่สืบเนื่องรายละเอียดต่อจากแผนกลยุทธ์ระดับธุรกิจ
         แผนกลยุทธ์การบริหารการผลิตเกิดขึ้นจาการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การประกอบกับสมรรถนะของทรัพยากรภายในองค์การเอง ดังที่เรียกว่า การวิเคราะห์ปัจจัยภายในและสภาวะภายนอกองค์การ (SWOT Analysis) อันประกอบด้วย

ปัจจัยภายใน
S – Strength
จุดแข็ง คือ ข้อได้เปรียบที่องค์การมีเหนือผู้อื่น เช่น มีเครื่องจักรที่ทันสมัย
W – Weakness
จุดอ่อน คือ ข้อเสียเปรียบที่ทำให้องค์การด้อยกว่าผู้อื่น เช่น ขาดแรงงานที่มีฝีมือ
ปัจจัยภายนอก
O – Opportunity
โอกาส คือ เหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เช่น ฝนตกทำให้ร่มขายดี
T- Threat
อุปสรรค คือ สถานการณ์ที่ทำให้องค์การประสบกับปัญหาหรือความยากลำบากในการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ คู่แข่งผลิตสินค้าใหม่ออกแข่งขัน

2 ขั้นตอนของการสร้างแผนกลยุทธ์
         ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดงานหลัก (Primary Task) โดยระบุเป็นพันธะกิจ (Mission) ที่บ่งบอกถึงแนวทางในอนาคตขององค์การที่วางไว้อย่างมีวิสัยทัศน์ ไม่กว้าง ไม่แคบเกินไป ระบุเป็นเชิงปริมาณที่ชัดเจนเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมหลักขององค์การ
         ขั้นตอนที่ 2 : ยึดมั่นในข้อได้เปรียบหลัก (Core Competency) ที่องค์การมีเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆ จึงเรียกข้อได้เปรียบหลักได้อีกอย่างหนึ่งว่า Distinctive Competence หรือ Competitive
         Advantage ข้อได้เปรียบหลักควรจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าในสายตาลูกค้า โดยที่คู่แข่งขันไม่สามารถเลียนแบบได้ง่าย ข้อได้เปรียบหลักประกอบด้วยแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบของเทคโนโลยี ตลอดจนความแข็งแกร่งของการปฏิบัติการทางการตลาดและการเงิน

ภาพที่ 1.6 : ตัวอย่างลักษณะวิสัยทัศน์ของบริษัท
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 41.


ภาพที่ 1.7 : การวางแผนและการตัดสินใจขององค์กรแบบ Top-down
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 42.

 วิธีการในการวางแผนกลยุทธ์โดยยึดข้อได้เปรียบหลักเป็นสำคัญ (Competency – based Strategy)
         1.สร้างข้อได้เปรียบหลัก ข้อได้เปรียบหลักมักจะมาจากประสบการณ์ที่สะสมมา และความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ในปัจจุบันนี้ธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขั้นที่รุนแรงและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์สั้นลง จึงทำให้ข้อได้เปรียบหลักที่มีอยู่มักจะไม่คงทน จึงควรทบทวนข้อได้เปรียบหลักที่มีอยู่เสมอเมื่อเวลาผ่านไป
         2.ใช้ข้อได้เปรียบหลักให้เป็นประโยชน์ โดยสร้างเสริมคุณค่าของข้อได้เปรียบหลักให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า หรือทำให้เป็นจุดขายที่โดดเด่น หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่จากข้อได้เปรียบหลักที่มีอยู่ หรือใช้ข้อได้เปรียบหลักคิดวิธีการปฏิบัติใหม่และหาตลาดลูกค้าใหม่
         3.ตั้งวัตถุประสงค์เชิงปริมาณจากกลยุทธ์ขององค์การ ให้ทุกคนได้เห็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมในทุกระดับชั้นขององค์การและเข้าใจในเป้าหมายร่วมกัน กระบวนการตั้งวัตถุประสงค์ที่จะต้องดำเนินต่อเนื่องจากระดับบนไปสู่ระดับล่างขององค์การเป็นแผนงานที่จัดทำโดยกระบวนการสร้างนโยบาย เรียกว่า HOSHIN
         ขั้นตอนที่ 3 : พิจารณาเลือกลักษณะที่เข้าข่าย (Order Qualifier) และลักษณะที่ตัดสินใจเลือก (Order Winner) การมีข้อได้เปรียบหักที่ไม่มีค่าในสายตาผู้บริโภคก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ เพราะลูกค้าจะซื้อต่อเมื่อเขาเล็งเห็นคุณค่าของข้อได้เปรียบหลักเท่านั้น ความแตกต่างของลักษณะทั้งสองมีดังต่อไปนี้
         Order Qualifier เป็นลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการเลือกซื้อของลูกค้า
         Order Winner เป็นลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้พิจารณาตัดสินใจซื้อ

ภาพที่ 1.8: ความแตกต่างระหว่าง Order Qualifier และ Order Winner
ที่มา : Mark, M. Davis, Nicholas, J. Aquilano, and Richard, B. Chase,
Fundamentals of Operations Management, 2003: 62.

ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้าจะเลือกซื้อเครื่องเล่นวีดีโอเทปโดยมีเงินอยู่จำกัด การเลือกยี่ห้อที่จะซื้อจะดูจากราคาที่ไม่เกินเงินที่มีอยู่ซึ่งอาจมีอยู่ 3 – 4 ยี่ห้อ แต่ในที่สุดลูกค้าได้ตัดสินใจซื้อเครื่องเล่นวีดีโอเทปที่มีหน้าที่การทำงานหลายหน้าที่ ดังนั้นราคาที่ไม่สูงเกินงบประมาณที่มีอยู่เป็นลักษณะที่เข้าข่ายและหน้าที่การทำงานหลายหน้าที่เป็นลักษณะที่ตัดสินใจเลือก

            จุดสำคัญจะอยู่ที่การมีลักษณะที่ตัดสินใจเลือก เพราะธุรกิจจะดำรงอยู่ได้ต่อเมื่อมีลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่เพียงแต่ลูกค้าสนใจเท่านั้น

            ขั้นตอนที่ 4 :  วางตำแหน่งขององค์การ โดยการเลือกข้อได้เปรียบหลักบางข้อที่องค์การสามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และนำจุดแข็งและจุดอ่อนมาสร้างแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ